14 เรื่องข้าว ที่น่ารู้สำหรับมนุษย์


14 เรื่องข้าว ที่น่ารู้สำหรับมนุษย์

1. ข้าว (Rice) 
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oryza sativa L. วงศ์ GRAMINAE, POACEAE

2. ข้าวชนิดแรกที่มนุษย์รู้จักนำมากินคือ “ข้าวป่า”
พบร่องรอยของข้าวป่าที่มีอายุถึง 16,000 ปี และข้าวที่ปลูกอายุกว่า 9,000 ปี โดยพิจารณาจากการขุดพบหลักฐานข้าวไหม้ที่ติดอยู่กับเศษภาชนะรวมทั้งเศษต้นข้าวสมัยโบราณที่ขุดได้จากถ้ำ 2 แห่งในหุบเขาเมืองหนานชาง ( Nanchang ) เมืองหลวงของมณฑลเจียงสี (Jianxi)

3. เริ่มการกสิกรรมข้าว 
จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานได้ว่าเมื่อยุคน้ำแข็งใกล้สิ้นสุดลง สัตว์ใหญ่หลายชนิดเริ่มสูญพันธุ์มนุษย์จึงต้องลดการล่าสัตว์ แล้วหันมาสะสมข้าวป่าและพืชเพื่อเป็นอาหาร ซึ่งการเพาะปลูกข้าวใช้วิธีการปลูกคล้ายกับการทำไร่เลื่อนลอย ข้าวป่าในช่วงแรกจะมีก้านและใบเดี่ยวแต่เมื่อมีการนำข้าวมาปลูกใหม่จะได้ก้านใบถึง 5 ก้าน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการเกษตรเพื่อดำรงชีวิต

4. มีพันธุ์ข้าวบนโลกนี้มากถึง 120,000 สายพันธุ์ 
พันธุ์ข้าวที่รู้จักและนำมาปลูกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ Oryza Savita ที่นิยมเพาะปลูกในทวีปเอเชีย และ Oryza Gglaberrina ที่นิยมเพาะปลูกในทวีปแอฟริกา

5. พืชในสกุล Oryza มีถิ่นกำเนิดในดินแดนที่เรียกว่า กอนด์วันนาแลนด์ (Gondwanaland) 
เป็นดินแดนที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรลงไปเมื่อ 200-600 ล้านปีที่แล้ว โดยดินแดนแห่งนี้ได้แยกตัวออกมาตามทฤษฎีการเลื่อนไหลของทวีปในยุคครีเตเชียส (Cretaceous period) เป็นเขตร้อนชื้นของทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ของประเทศจีน โอเชียเนีย และทวีปออสเตรเลีย 

6. ชนิด (species) ของข้าวป่าที่พบในทวีปเอเชีย
คือ Oryza nivara, Oryza rufipogon และ Oryza minuta ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในอินเดียตอนเหนือของบังคลาเทศ บริเวณดินแดนสามเหลี่ยมติดกับพม่า ไทย ลาว เวียดนาม มีการสันนิษฐานว่าข้าวป่าชนิด Oryza rufipogon เป็นต้นตระกูลของข้าวปลูกในทวีปเอเชีย คือ Oryza sativa ที่มีการวิวัฒนาการจากการเป็นข้าวป่าข้ามปีมาเป็นข้าวป่าล้มลุกและกลายเป็นข้าวปลูกไปในที่สุด

7. ข้าวที่ปลูกและซื้อขายกันในตลาดโลกเกือบทั้งหมดจะเป็นข้าวจากทวีปเอเชียแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
• ข้าวอินดิกา (Indica) หรือข้าวเจ้า เป็นข้าวที่มีลักษณะเม็ดเรียวยาวรี ลำต้นสูง ตั้งชื่อมาจากแหล่งที่ค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เป็นข้าวที่นิยมเพาะปลูกในทวีปเอเชียเขตมรสุมตั้งแต่ จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย ไปจนถึงอินเดียและศรีลังกาและแพร่กระจายไปทั่งเขตอุษาอาคเนย์ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 1000 ทั่วเขตลุ่มน้ำอิระวดี และต่อมาแพร่ขยายเพาะปลูกในทวีปอเมริกา เฉพาะในเมืองไทย ข้าวอินดิกานิยมเพาะปลูก ในบริเวณที่ราบลุ่มตอนใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วแทนข้าวเหนียวที่เคยปลูก ซึ่งคนไทยสมัยนั้นเรียกข้าวอินดิกาที่มาจากต่างประเทศ ว่า “ข้าวของเจ้า” แล้วเรียกกันสั้นลงเหลือเพียง “ข้าวเจ้า” มาถึงทุกวันนี้
• ข้าวจาปอนิกา (Japonica) เป็นข้าวเหนียวเมล็ดป้อม กลมรี มีแหล่งกำเนิดจากแม่น้ำเหลืองของจีน แล้วผ่านมาทางลุ่มแม่น้ำโขง ในสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นไปแพร่หลายในเขตอบอุ่นที่ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ยุโรป และอเมริกา 
• ข้าวจาวานิกา (Javanica) เป็นข้าวลักษณะเมล็ดป้อมใหญ่สันนิษฐานว่าเป็นข้าวพันธุ์ผสมระหว่างข้าวอินดิกาและจาปอนิกา นิยมเพาะปลูกในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน หมู่เกาะริวกิว และญี่ปุ่น แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนักเพราะให้ผลผลิตต่ำ

8. พบร่องรอยของข้าวพร้อมกับอารยธรรมไทยไม่น้อยกว่า 5,000 ปี 
แกลบข้าวที่เป็นส่วนผสมของดินใช้เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง อำเภอโนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง อันสันนิษฐานได้ว่าเป็น เมล็ดข้าวที่เก่าแก่ที่สุดของไทยรวมทั้งยังพบหลักฐานเมล็ดข้าวที่ขุดพบที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยแกลบข้าวที่พบนี้มีลักษณะของข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ที่เจริญงอกงามในที่สูง นอกจากนี้ยังมีการคันพบเมล็ดข้าว เถ้าถ่านในดินและรอยแกลบข้าวบนเครื่องปั้นดินเผาที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แสดงให้เห็นถึงชุมชนปลูกข้าวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแถบชายฝั่งทะเล รวมทั้งยังหลักฐานคล้ายดอกข้าวป่าที่ถ้ำเขาทะลุ จังหวัดกาญจนบุรี อายุประมาณ 2,800 ปี 

9. มีนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น 3 คน ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องข้าวไทย
Tayada Natabe, Tomoya Akihama และ Osamu Kinosgita แห่งมหาวิทยาลัย Tottri และ กระทรวงเกษตรและกรมป่าไม้ ได้ศึกษาวิจัยแกลบจากแผ่นอิฐโบราณจากโบราณสถาน 108 แห่งใน 39 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าการปลูกข้าวในไทยมีมานานนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 โดยข้าวที่ปลูกจะเป็นข้าวเหนียวนาสวนเมล็ดป้อม และข้าวเหนียวไร่เมล็ดใหญ่ ต่อมาการปลูกข้าวเหนียวไร่น้อยลง แล้วเริ่มมีการปลูกข้าวนาสวนเมล็ดเรียวเพิ่มขึ้น 

10. ประมาณ พ.ศ. 540-570 ไทยได้รับอิทธิพลด้านกสิกรรมและการค้าจากจีน 
คาดว่ามาตามลำน้ำโขงสู่ดินแดนอีสานตอนล่าง ที่นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และเมล็ดใหญ่กันอย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับภาคกลางในยุคทวาราวดี ในช่วงเวลานั้นเริ่มมีการเพาะปลูกข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียวขึ้นแล้ว สันนิษฐานว่านำมาจากอาณาจักรขอม ซึ่งในยุคนั้นถือว่า เป็นชนชั้นปกครอง การหุงต้มข้าวเมล็ดยาวนี้แตกต่างจากข้าวของชาวพื้นเมือง จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้ข้าวชนิดนี้ถูกเรียกว่า “ข้าวของเจ้า” หรือ “ข้าวเจ้า” และเรียกข้าวเหนียวว่า “ข้าวไพร่” บ้างก็เรียกว่า “ข้าวบ่าว”หรือ “ข้าวนึ่ง” ซึ่งข้าวในสมัยนั้นเรียกกันเป็นสิ่งบ่งบอกชนชั้นได้อีกด้วย 

11. ข้าวที่ปลูกในสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1740-2040) 
เป็นข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดยาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เริ่มปลูกข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ในยุคนี้พระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงการกสิกรรมได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”  

12. ข้าวในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น 
เมื่อบ้านเมืองมีความมั่งคั่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ อีกทั้งหัวเมืองในอาณาจักรจำนวนมาก เริ่มระบบการปกครองแบบจตุสดมภ์มี “กรมนา”ดูแลและส่งเสริมและสนับสนุนการทำนาอย่างจริงจัง เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรและเป็นเสบียงสำรองในยามเกิดศึกสงคราม 

13. ข้าวในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย – กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการเก็บอากรข้าวในภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวที่ทางราชการแนะนำ หรือพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณภาพ ส่วนภาคเหนือตอนบนนิยมปลูกข้าวเหนียว แต่ในภาคเหนือตอนล่างและภาคใต้เน้นปลูกข้าวเจ้าเป็นหลัก

14 ปัจจุบันลักษณะข้าวที่ปลูกในประเทศมี 2 ชนิด
ข้าวเมล็ดป้อมที่พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนข้าวเมล็ดยาวพบมากในภาคกลางและภาคใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด  

ที่มา : ลักษณะของข้าวที่สำคัญทางการเกษตร จากสารานุกรมไทยเล่มที่ 3 โดย ประพาส วีระแพทย์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อำเภอราษีไศล ประวัติอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

ตำแหน่งทางปกครองภาษาอังกฤษ นายอำเภอภาษาอังกฤษ กำนันภาษาอังกฤษ อบต.ภาษาอังกฤษ ผู้ใหญ่บ้านภาษาอังกฤษ

สวนสัตว์ศรีสะเกษ Sisaket Zoo ประวัติความเป็นมาสวนสัตว์ศรีสะเกษ สถานที่เที่ยวศรีสะเกษ